วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ชำแหละ! พรบ.กสทช. เริ่มแรกและเร่งด่วน จากเวทีระดมสมอง กมธ.สว.นัดแรก

วันอังคาร ที่ 11 มกราคม 2554
 
หมวด : นักข่าวอาสา 



โดย  ภัทราพร ตั๊นงาม

เวทีสัมมนา"ชำแหละ พรบ.กสทช. เริ่มแรกและเร่งด่วน : สู่แนวทางของแผนแม่บทฯ" วันนี้  จัดโดยคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ที่มีนายประสิทธิ์ โพธสุธน เป็นประธาน มีผู้ร่วมเสวนาหลักๆ ประกอบด้วย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รักษาการ เลขาธิการกทช. ปฎิบัติหน้าที่ กสทช., นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าว วิทยุ และโทรทัศน์ไทย, นายต่อพงษ์ เสนานนท์ ประธานฝ่ายส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและสื่อสาธารณะ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ นายกสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย, นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์, นายเกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย  ส่วนข้างล่างเวทีมีผู้ร่วมรับฟังจากภาคส่วนเกี่ยวข้องนับ 100 คน 

นายอนันต์ วรธิติพงศ์ รองปธ.กมธ.ฯ บอกว่า วันนี้หารือกันใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การทำความเข้าใจมาตราต่างๆ ในข้อกฎหมาย ฉบับนี้ / ความคืบหน้าการสรรหา กสทช. และการระดมความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ระหว่างปฎิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งในประเด็นหลังนี้ ผู้ร่วมสัมมนาหลายคนเห็นตรงกันว่า กทช. ต้องทำรายละเอีดยดแผนแม่บทรองรับกสทช. ที่คาดว่าจะสรรหาตัวบุคคลได้เร็วที่สุดก็อีก 7-8 เดือนข้างหน้า หรือ ประมาณ เดือนสิงหาคม หรือ กันยายน


นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพ ข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ระบุว่า กระบวนการสรรหากสทช.ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ควรมีใครหรืออะไร ทำให้เกิดปัญหาหรือสะดุดจนถึงขั้นต้องให้อำนาจปลัดกระทรวง 3 กระทรวง เสนอความเห็นให้นายกพิจารณาตามที่กฎหมายเปิดช่อง ซี่งหากเป็นจริงก็เท่ากับว่ากำลังเปิดโอกาสให้

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าปัญหาเรื่องการเช่าโครงข่ายโทรคมนาคม (MVNO) จะเป็นปัญหาที่ต้องเร่งยื่นให้กฎษฎีกาหรือหน่วยเกี่ยวข้องตีความ เพราะปัจจุบันคลื่นความถี่เป็นของราชการ หรือหน่วยงานรัฐ ทั้งนั้น และให้เอกชน เช่น ทีโอที และ กสท. เช่าช่วงทำต่อ แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ อาจส่งผลกระทบต่อกิจการโทรคมาคมได้

รศ.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ นายกรัฐสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์ และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ระบุว่า  พรบ.ฉบับนี้มีการพูดการการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง เสรีและเป็นธรรม และให้ความสำคัญกับการจัดตั้ง "กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ" ซึ่งกองทุนนี้ มีจุดประสงค์เพื่อดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสนุน การพัฒนาบุคคลากรและคุ้มครองผู้บริโภค

 ทั้งนี้ เงินหรืองบประมารที่จะนำเข้าไปสนับสนุนกองทุน จะจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรเขียนเนื้อหาไว้ในแผนแม่บทและต้องเขียนไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่กลไกลเศรษฐศาสตร์


รศ.ยุบล  บอกด้วยว่า นอกจากนี้ กองทุนฯในกฎหมายนี้ ควรเน้นเรื่องบทบาท หน้าที่ของ องค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อได้ให้รับการคุ้มครองแบบสากลอย่างชัดเจน และควรจะยกระดับเรื่องค่าตอบแทน หรือสวัสดิการที่เหมาะสม  ซึ่งปัจจุบันผู้สื่อข่าว ได้รับค่าตอบ หรือเงินเดือน น้อยกว่าผู้ประกาศข่าวที่ทำงานอยู่ในสถานี และทำงานหนักน้อยกว่าผู้สื่อข่าวที่อยู่ภาคสนามมาก ไหนๆ ก็จะจะต้องบรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนแม่บทแล้ว ก็อยากให้เขียนเรื่องการยกระดับวิชาชีพนี้บรรจุไว้ด้วย ว่าควรจะให้ค่าตอบแทนกับผู้สื่อข่าวที่อยู่ในสนามมากกว่าคนนั่งอ่านข่าวข้างใน ซี่งจะช่วยให้วิชาชีพนี้ได้รับการยกระดับเหมือนสากลอย่างแท้จริง รวมถึงการปฎิบัติงานในสนามข่าวควรได้รับการดูแลและคุ้มครองจากองค์กรอย่างเหมาะสม เช่น การลงสนามทำข่าวเหตุการณ์ชุมนุมช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าผู้สื่อข่าวภาคสนามหลายสำนัก ไม่มีชุดเกราะ หรือ อุปกรณ์ป้องกันตัว ทั้งๆ ที่อยู่ในพื้นที่อันตรายมาก สิ่งเหล่านี้ควรบรรจุไว้เพื่อให้ลงไปถึงการทำงานที่เป็นรูปธรรมได้จริงๆ  ให้วิชาชีพนี้ได้รับการยกระดับอย่างแท้จริง


นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์  บอกว่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาทำให้เป็นการกีดกันตัวแทนจากภาควิชาชีพมาก เพราะกฎหมายบอกให้ต้องลาออกก่อนสมัคร กสทช. ล่วงหน้า  1 ปี แต่ข้อเท็จจริง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะจะให้ลาออกตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว เพราะการสรรหากสทช.จะเริ่มขึ้นอีก 6-7 เดือนข้างหน้า แต่การให้ลาออกล่วงหน้า 1 ปี มันเป็นไปไม่ได้เลยจริงๆ  หากบอกว่าพรบ.ฉบับนี้ เป็นพรบ.ชิ้นโบว์แดงก็ไม่ได้ แต่หากกำจัดเรื่องการกีดกันประเด็นดังกล่าว ก็น่าจะเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุด

กฎหมายฉบับนี้จะมีความสมบูรณ์ได้ ถ้าเรามีตัวแทน ที่มีความรอบรู้ทุกด้านที่เกี่ยวกับวิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งพวกวิชาชีพจะมีจุดดีคือทำงานอยู่ในภาคสนามทุกวัน รับรู้ปัญหา นักวิชาการก็ดีก็จะมีความรู้จากการศึกษาวิจัย ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรจะตัดภาคใดภาคหนึ่งทิ้ง

ส่วนเรื่องคลื่นความถี่ หรือสัมปทานฟรีทีวี นั้น เห็นว่า เรื่องแผนแม่บทที่จะออกมา ไม่ควรให้กระทบต่อผู้ผลิตที่มีอยู่เดิม แต่ควรขยายให้ได้กว้างที่สุด ไม่ใช่การไปริบหรือยึดคืนทีวีเพื่อประมูลใหม่ แต่ทางที่ดีควรจะเปิดให้มันเสรี  ทำอะไรก็ให้มันเสรีเถอะ แต่ขอให้ได้คนที่ผลิตดีๆ มีคุณภาพเท่านั้น ถึงจะอยู่ได้  เรื่องนี้ ยิ่งมาก ยิ่งดี ยิ่งแข่งขันกัน

อีกเรื่องที่อยากฝาก คือแผนแม่บท ควรทำแผนให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกาลเวลาและสถานการณ์ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า  และอยากให้กสทช.มีส่วนผสมของคนทำงานเป็นและทำงานกันจริงๆ

สำหรับเวที "ชำแหละ พ.ร.บ.กสทช.ฯ" ครั้งนี้  กมธ.ได้ประชุมระดมข้อมูลกันและจะประมวลรายละเอียดทั้งหมดเสนอที่ประชุมร่วมกมธ.  เพื่อทำหนังสือส่งให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และบริษัท เอกชน เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นกับพ.ร.บ.ฉบับนี้  และจะจัดเวทีในรูปแบบนี้ต่อเนื่องเพื่อสะท้อนหลากมุมมองการปฎิรูปอุตสาหกรรมโทรคมนาคม วิทยุ สื่อสาร บุคลากร และผู้เกี่ยวข้องทุกระบบ

++++++++

ติดตามข่าวผ่านระบบออนไลน์

http://twitter.com/Pat_TVThai

http://www.youtube.com/user/PhattrapornTanngam

http://www.facebook.com/phattraporn.tpbs



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น