วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วงถกสัมมนา”ทิศทางกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีในยุคกสทช.”(พนา-ต่อพงษ์-วสันต์)

3 พ.ค.54- เวทีสัมมนา"ทิศทางกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีในยุคกสทช." มีการระบุว่าจะมีการปรับเปลี่ยนทีวีในระบบปัจจุบันไปสู่ทีวีดิจิตดอลภายใน 1 ปี และทำให้ต้องมีการลงทุนระบบอุตสาหกรรมสื่อเติบโตได้ถึงหลักหมื่นล้านบาทถึงหลักแสนล้านบาท 
โดยงานสัมมนาวันนี้ จัดขึ้นเพื่อให้รับทราบสถานการณ์ทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีในปัจจุบัน การปรับตัวของผู้ประกอบการ วิธีการให้บริการและบริการหลังการขาย การจัดเรทติ้งและการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยมีผู้ประกอบการ นักวิชาการ กทช. เข้าร่วม

นายพนา ทองมีอาคม กทช.ปฎิบัติหน้าที่ กสทช. กล่าวถึงทิศทางการกำกับดูแลทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีตาม
กฎหมาย กสทช. โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เติบโตตลอดเวลา และแผนแม่บทฯ กำหนดไว้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องตามดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา พร้อมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี หลังการมีกสทช. และแผนแม่บทด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ในหลักหมื่นล้านบาท ไปถึงระดับหลักแสนล้านบาท 

ขณะเดียวกันจะมีการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้เกิดฟรีทีวีนับร้อยช่อง และต้องมีคณะกรรมการด้านวิทยุและโทรทัศน์ควบคุมเพื่อให้การนำเสนอเป็นไปอย่างได้คุณภาพ ขณะเดียวกันประชาชน ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบทีวีจากอนาล็อค ไปเป็นดิจิตอล ที่รัฐบาลควรจะเข้ามาเป็นผู้ลงทุน

นอกจากนี้ เห็นว่าในระยะยาวเรื่องเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญ  ต้องได้รับมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผลิต การเผยแพร่ และองค์กรกำกับดูแล ที่จะช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมให้เติบโตและมีคุณภาพ อย่างเช่นตัวอย่างละครที่มีปัญหาในขณะนี้ 

ต่อพงษ์  เสลานนท์ กรรมการสถานบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พูดถึงรายงานประเด็นปัญหาด้านสัญญาและการให้บริการในด้านเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ตอนนี้มีทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลฯ รวมกัน 200-300 ช่อง สิ่งที่รู้ตรงกัน คือ 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของเคเบิ้ลทีวี หรือกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่หรือบอกรับสมาชิก เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซี่งการเป็นคณะอนุกรรมการตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 อัตราการใช้บริการเคเบิ้ลอยูที่ร้อยละ 10 หรือประมาณ 2.5 ล้านครัวเรือน จากครัวเรือนทั้งหมด 20 ล้านครัวเรือน แต่ตอนนี้น่าจะเกินร้อยละ 50 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้องค์กรกำกับต้องเข้าใจ ซึ่งมันจะยุ่งขนาดไหนที่จะมีสัญญาใหม่เกิดขึ้นเป็น 10 ล้านสัญญา

ปัญหาส่วนใหญ่ คือสัญญาเกี่ยวกับการบริการ ซึ่งมีตัวแปรที่ทำให้คุณภาพต่างๆ ลดลง เช่น มาตรการส่งเสริมการขายหรือขายพ่วง เป็นปัญหาที่อ่านสัญญาแล้วยังมีข้อสงสัย และอีกประเด็นคือเรื่องเนื้อหา เพราะไม่ว่าจะเป็นแซทเทิลไลท์ทีวี หรือเคเบิ้ล จะมีปัญหาที่มีการควบคุมน้อยในปัจจุบัน เพราะองค์กรที่กำกับตัวจริงยังไม่มา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่อไปถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งช่วงนี้เกิดช่องว่างและมีคนพยายามแสวงหาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น เช่น กรณีน้ำหมัก  และที่ไม่แพ้กันคือวิทยุชุมชนก็มีปัญหาลักษณะนี้คล้ายกันมาก

สำหรับระบบโทรคมนาคม ในการทำสัญญาได้มีระบุไว้เป็นข้อกำหนดไว้ในสัญญา และทุกสัญญาที่ทำจะต้องมีลักษณะนี้และเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้ยึดร่วมกัน ในด้านโทรคมนาคม มีความพยามทำมาหลายปี แต่อาจมีปัญหาเรื่องการตรวจและดูสัญญาที่โอเปอเรเตอร์ทำใช้เวลายาวนานมาก ซึ่งถ้าเรานำแนวคิดนี้มาใช้กับกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ก็เป็นเรื่องน่าจะต้องทำตาม เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ทำงานลำบาก โดยแนวคิดจะแยกประกาศออกเป็น 2 ฉบับ คือ ใบอนุญาต และการประกอบกิจการ   

ส่วนตัวค่อนข้างมั่นใจว่าเครื่องมือหรือแนวความคิดมีมากพอที่จะกำกับกิจการในยุคที่เรียกว่าเป็นยุคหลอมลวม หรือ ยุคใหม่ ขณะนี้มีการร่างแผนแม่บทฯ ที่มีนายพนา เป็นประธาน ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค นับว่ามีส่วนสำคัญ

สำหรับตัวสัญญาต่างๆ ควรจะดูว่าจะกำกับกิจการอย่างไร ความยากของงานนี้มีรายละเอียดมาก โดยจุดที่สำคัญมี 3 เรื่องคือ
1.เรกกูเรเตอร์ต้องมีข้อพิจารณาในแต่ละตัวอย่างที่คงที่เพื่อเป็นหลักยึดให้ได้  
2.กลไกในการช่วยกันกำกับควบคุมของกลุ่มโอเปอร์เรเตอร์ต้องเกิดขึ้น และช่วยการพิจารณาสามารถดำเนินการกันเอง และ
3.กลุ่มผู้บริโภคที่สามารถรู้สิทธิ์ และกำกับกันเองได้ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ใช้งาน ทั้งหมดต้องรวมกันเป็นไตรภาคี และมีภาควิชาการมาช่วยดูแลในส่วนของเนื้อหา 
ทั้งหมดจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัญญาเป็นมาตรฐาน 
"มีตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อสงสัย คือ เช่น การซื้อโทรศัพท์มือถือค่ายหนึ่ง แต่พ่วงบริการทีวีไปด้วย จะต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด เพราะพรบ.กสทช.มีข้อกำหนดเรื่องการละเมิดการผูกขาด หรือไปกระทบสิทธิของใครบ้าง เมื่อสุดท้ายผู้บริโภคไม่มีทางเลือกจะเป็นปัญหาระยะยาว หรือกระทบการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมหรือไม่  ยังไม่นับรวมส่วนแบ่งรายได้ หรือ ไลเซ่นฟรี ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้คณะอนุกรรมการฯ รู้มาตลอด แต่ที่สุดหากมีผู้บริโภคร้องเรียนมาก็ต้องมาพิจารณากัน"  

สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นปัญหาของใครแต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการร่วมมือกันแก้ปัญหา ซี่งในด้านโทรคมนาคม มีข้อมูลปรากฎชัดว่าบางเจ้าที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งผู้บริโภคก็ยังใช้บริการเต็มที่ แต่ขณะที่บางเจ้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ ก็สะท้อนว่ายังเป็นเบอร์ 3 ต่อไป ยืนยันว่าความร่วมมือในฐานกัลยาณมิตรจะเป็นความร่วมมือในการแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะบ้านเราไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากันอีกแล้ว

วสันต์ ภัยหลีกลี้ รองผู้อำนวยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) ระบุว่า คนเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ส่วนใหญ่เป็นรัฐ แต่มีบางส่วนที่ให้สัมปทานเช่น ฟรีทีวี มีลักษณะแข่งขันกันคนละระนาบ อนาคตจะมีการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญวงการโทรทัศน์ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี50 ระบุชัดว่าคลื่นความถี่เป็นของชาติ ต้องนำมาจัดสรรใหม่และประชาชนเป็นเจ้าของ การดำเนินการต้องเป็นการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม 
หลังกสทช.จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือ เทคโนโลยีและเครื่องมือการออกอากาศ จะมีคุณภาพดีขึ้นแต่ราคาถูกลง และส่งผลให้มีคนสามารถลงทุนและทำธุรกิจนี้ได้มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่เอกชนลงทุน และโอนให้รัฐเป็นเจ้าของโครงข่าย
กฎหมายกสทช. ที่จะทำให้มีการสรรหากสทช.และทำให้มีการขยายตัวของคลื่นความถี่ อนาคตหากนำคลื่นความถี่มาจัดสรรหใหม่ จะทำให้มีช่องรายการภาคพื้นที่ดินไม่น้อยกว่าร้อยช่องรายการ และทำให้ประชาชนมีทางเลือกบริโภคสื่อและข่าวสารได้มากขึ้น และเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวม 
"การแข่งขันในอนาคตจะเป็นการแข่งขันด้านเนื้อหา และขณะนี้หากดูภาพรวมการทำธุรกิจและโฆษณาในธุรกิจสื่อมีอยู่ราว 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ไม่กี่ช่องในฟรีทีวี  แต่อนาคตจะกระจายไปในเคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม ที่สำคัญการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล จะทำให้มีช่องทางสื่อสารมากขึ้น แม้ปัจจุบันการสื่อสารทุกวันนี้มีลักษณะการสื่อสารเป็นใยแมงมุม สื่อหลายแห่งมีการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ตลอดเวลา ซึ่งอนาคตการปิดกั้นการสื่อสาร หรือการนำรถถังออกมาวิ่ง ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะปกปิดประชาชนได้โดยง่าย การสื่อสารอย่างกว้างขวางจะทำให้โลกแคบลง"


การกำกับดูแลวงการโทรทัศน์ไทย สิ่งสำคัญสุดคือการกำกับดูแล ต้องคำนึงถึงเจตนารมย์ของกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญที่คลื่นความถี่เป็นประโยชน์ของสาธารณะสูงสุด ซึ่งอนาคตต้องเปิดให้แข่งขันเสรี เป็นธรรม และมีช่องทางในการรับรู้หรือติดตามข่าวสารข้อมูลหรือมีทางเลือกไม่กี่ทางหรือรับชมทางโทรทัศน์ ประชาชนต้องได้รับการบริการอย่างทั่วถึงในการกำกับดูแล รวมถึงคุณภาพมาตรฐานในการให้บริการ 
ที่สำคัญ ต้องมีการกำกับดูแลในส่วนของโครงสร้างที่จะต้องดูแลร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้แข่งขันกันมากและไม่มีคนดูแล และผลักภาระไปที่ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามมา
สำหรับการกำกับเนื้อหา ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพต้องกำกับดูแลกันเองตามกรอบวิชาชีพ และต้องส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลร่วมกัน ด้านข่าว ละคร ต้องมีองค์กรวิชาชีพกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ และกำหนดกรอบการดูแลให้อยู่ในกรอบเหล่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาคล้ายลักษณะเสือกระดาษ แต่อนาคตกสทช.จะเข้าไปมีส่วนเข้าไปสนับสนุน และจะทำให้สื่อมีความเข้มแข็งไปด้วย และต้องส่งเสริมให้คนรู้เท่าทันสื่อ

--


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น