วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หวด พ.ร.บ.กสทช. มัวแต่งมเข็ม-ออกผิดทาง

หวด พ.ร.บ.กสทช. มัวแต่งมเข็ม-ออกผิดทาง

นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารและสารสนเทศ จี้คลอดพ.ร.บ. กสทช. ชี้ยึดผลประโยชน์ต่อสาธารณะดีที่สุด ระบุที่ผ่านมามัวแต่แก้ไขร่างแต่เรื่องจำนวนคน แต่ผิดทาง... 

นายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารและสารสนเทศ กล่าวว่า หาก ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา มีการประกาศใช้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยจะทำให้ผู้ที่มีทุนมากๆ เท่านั้น ถึงจะถือครองสิทธิ์คลื่นความถี่ได้ ขณะเดียวกันต่างชาติก็จะเข้ามาครอบครองกิจการด้านสื่อสาร วิทยุ และโทรทัศน์มากขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากในร่างกฎหมายได้ระบุวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ใช้การประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น ซึ่งในหลายประเทศในยุโรปเคยใช้รูปแบบดังกล่าวมาแล้วและเกิดปัญหาทุนใหญ่กินทุนเล็ก ทุนต่างชาติกินทุนไทย และปัญหาตามมาคือการผลักภาระให้กับผู้บริโภคถึงแม้ภาครัฐจะได้รับเงินจากการประมูลมาเป็นจำนวนมหาศาลก็ตาม

"เมื่อก่อนวิธีนี้ยุโรปใช้ แต่ต่อมาหลายประเทศในยุโรป ฮ่องกง และญี่ปุ่น ไม่ใช้กันแล้ว แต่บ้านเรากลับเลือกวิธีที่ไม่ถูกเพราะไม่ได้พิจารณาจากผลประโยชน์ของคนที่ใช้จะได้รับ ขณะที่ไทยได้กำหนดเป็นวิธีเดียวที่ใช้จัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่ไม่ระบุรายวิธี หรือไม่ระบุวิธีการเลย" นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารและสารสนเทศ กล่าว

ขณะที่มองว่าหากจะเลือกวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ควรใช้วิธีการประกวดผลประโยชน์ต่อสาธารณะนั้นน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เช่น ผู้ที่ชนะประมูลจะต้องกำหนดว่าจะให้ประโยชน์แก่สาธารณะ อาทิ ค่าโทรไม่เกิน 50 สตางค์ เป็นต้น โดยวิธีนี้เริ่มใช้ในหลายๆ ประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการออกกฎหมายใหม่ก็ควรใช้วิธีใหม่ แต่กลับไปใช้วิธีเดียว คือ การประมูล ซึ่งถ้าหากยังใช้แนวทางนี้ เชื่อว่ากิจการวิทยุที่ผู้มีเงินทุนน้อยสามารถทำได้แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ก็คงจะหมดสิทธิ์

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ยังไม่ชัดเจนในเรื่องการคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ระบุว่าจะให้คืนเมื่อไร ซึ่งอนาคตจะก่อให้เกิดการถกเถียงกันตามมาจนไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างการผูกขาด ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวยังไม่เท่าทันเทคโนโลยีโดยกฎหมายไม่ได้แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิม ซึ่งอาจก่อปัญหาในอนาคตหากมีการส่งคลิปที่ผิดกฎหมายจะใช้กฎหมายใดมาควบคุม หรือหากมีบริการ 3 จีเกิดขึ้น และตั้งสถานีโทรทัศน์บนมือถือการกำกับดูแลควรเป็นกฎเกณฑ์ด้านโทรคมนาคม หรือโทรทัศน์ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ระบุไว้

นายอานุภาพ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการแก้ร่าง พ.ร.บ.กสทช.แต่ไม่ได้แก้ให้ดีขึ้น กลับไปแก้ไขในเรื่องจำนวน กสทช. ซึ่งทำให้ตกอยู่ในหลุมเดิม โดยดูเหมือนไม่ได้แก้อะไรเลย รู้สึกเสียดายเวลาและโอกาสที่ทำกฎหมายขึ้นมาทั้งที แต่ก็ยังสร้างปัญหาเรื่องคลื่นความถี่การกำกับเนื้อหาไม่ได้ช่วยอะไรเลย

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับ 4 ประเด็นสาระสำคัญในถ้อยคำตามร่าง พ.ร.บ. กสทช.ที่วุฒิสภาแก้ไขมา มีด้วยกัน 23 มาตรา ครอบคลุมใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

1. องค์ประกอบของ กสทช. วุฒิสภากำหนดให้มี 15 คน จากร่างเดิมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไป 11 คน 

2. คุณสมบัติของ กสทช. วุฒิสภาแก้ไขให้บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ กสทช. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ จากเดิมที่ร่างของสภาผู้แทนราษฎรกำหนดให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปี

3. การจัดทำแผนแม่บท วุฒิสภาแก้ไขให้การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. ต้องมีระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผนแม่บทไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องกำหนดรายละเอียด เพื่อใช้งานด้านความมั่นคงของรัฐอย่างเพียงพอ เหมาะสม ขณะที่ร่างของสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการจัดทำแผนแม่บท รวมไปถึงไม่ได้กำหนดเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับงานความมั่นคงของรัฐ 

4. การนำส่งรายได้ให้ กสทช.ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT วุฒิสภาบัญญัติให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศบังคับใช้ ให้รัฐวิสาหกิจที่ได้รับจัดสรรไปให้ผู้อื่นประกอบกิจการนำส่งรายได้ จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับจากการให้อนุญาตที่รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ไม่ว่าจะได้ทั้งหมด หรือบางส่วนมาให้ กสทช. โดยให้หักค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด โดย กสทช.จะนำส่งเงินดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป.

By ไทยรัฐ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น